ข่าวแปลจาก DW: สหภาพยุโรปและประเทศไทยสรุปข้อตกลงความร่วมมือปิดทศวรรษแห่งความสับสน

ข้อตกลงดังกล่าวตอบสนองความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปที่จะขยายฐานอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศให้หลากหลายขึ้น ข้อตกลงนี้ล่าช้าไปเกือบทศวรรษหลังเกิดการรัฐประหาร

ในที่สุดสหภาพยุโรปก็ได้สรุปข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) กับประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อตกลงฉบับที่ 6 กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้นหลังจากการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน ข้อตกลงนี้อาจเป็นแรงผลักดันที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอีกครั้ง

ขณะนี้ข้อตกลง PCA อยู่ระหว่างรอการลงนามอย่างเป็นทางการ โดยข้อตกลงจะเพิ่มความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนไปจนถึงการต่อต้านการก่อการร้าย บรัสเซลส์มองว่าการทำข้กตลงเป็นก้าวสำคัญเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ของ EU กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่ความสำคัญต่อสหภาพยุโรปทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ เศรษฐกิจ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (ETFTA) เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 แต่ถูกระงับไว้หลังการรัฐประหารของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายห่างเหินไปเป็นเวลาหลายปี การรัฐประหารยังกดเบรกแผนข้อตกลง PCA ที่ตกลงในปี 2556 โดยตัดเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบออก

ข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน (PCA) กลับสู่โต๊ะการเจรจาอีกครั้ง

ในปลายปี 2562 คณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งเป็นหน่วยงานตัดสินใจหลักของสหภาพยุโรปอนุญาตเริ่มการหารือ PCA อย่างเป็นทางการกับไทยอีกครั้ง หลังจากประเทศไทยจัดการเลือกตั้งที่ถูกดีเลย์มานาน ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำทหารคนเดียวกับผู้ที่ทำการยึดอำนาจในช่วงรัฐประหาร

การประชุมเตรียมความพร้อมรอบแรกเพื่อพิจารณาปรับแก้ร่างข้อตกลง PCA ได้เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และได้ข้อสรุปไปในการประชุมครั้งที่ 7 เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงถึงความเป็นไปได้ในการกลับมาเจรจา ETFTA ด้วย

ผู้แทนจาก European External Action Service (EEAS) ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและการป้องกันของสหภาพยุโรปกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ข้อตกลง PCA จะช่วยยกระดับการประชุมหารือทางการเมืองในประเด็นที่ทั่วโลกเป็นห่วงและจะช่วยสร้างขอบเขตสำหรับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในอีกหลายนโยบาย”

และกล่าวเพิ่มว่า “ข้อตกลง PCA จะเป็นโรดแมปกรอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย – EU ในปีข้างหน้าที่กำลังมาถึง”

Ms. Paola Pampaloni, Deputy Managing Director, EEAS และนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้สรุปกระบวนการเจรจาความตกลง PCA ไปในวันศุกร์ที่ผ่านมา

Mr. David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวกับ DW ว่า “การลงนามอย่างเป็นทางการจะตามมา หลังจากการดำเนินการภายในของ EU และไทย”

ความตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

Mr. Guillaume Rebiere, ผู้อำนวยการ European Association for Business and Commerce (EABC) กล่าวว่า “ความตกลง PCA จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการเจรจาแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้า”

ข้อมูลของสหภาพยุโรประบุว่า ในปี 2564 การค้าสินค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยเพิ่มขึ้นเป็น 35.4 พันล้านยูโร (35.16 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 29.3 พันล้านยูโรในปีก่อน สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทยรองจากประเทศญี่ปุ่น

Mr. Guillaume Rebiere กล่าวเพิ่มว่า “ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและการเมืองที่สำคัญ ดังนั้น ความตกลงนี้จึงมีความสำคัญ เพื่อเพิ่มบทบาทของสหภาพยุโรปในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ทั้งธุรกิจและนักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลง PCA

Ms. Trinh Nguyen นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศที่กำลังเติบโตในทวีปเอเชีย จากบริษัทบริหารการลงทุน Natixis กล่าวว่า “ความตกลงดังกล่าวนั้นสมเหตุสมผลสำหรับทั้งสองฝ่าย” “มันจะเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งคู่เต็มใจและกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความหลากหลายในแหล่งการลงทุน”

หุ้นส่วนในการกระจายความเสี่ยง

สำหรับประเทศไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากมาเป็นเวลานาน การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนจากการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ประเทศไทยต้องทบทวนใหม่ถึงการพึ่งพาตลาดปักกิ่ง และเริ่มหาแหล่งธุรกิจจากตลาดอื่น โดยไทยทราบดีว่าประเทศไทยจะต้องขยายแหล่งเติบโตออกไปนอกเหนือจากสองหุ้นส่วนหลักของประเทศเดิม อย่างอเมริกา และ จีน

Ms. Trinh Nguyen กล่าวว่า “การขยายการเข้าถึงทางการค้าและการลงทุนกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว”

Nguyen: “สหภาพยุโรปเองก็เริ่มส่งสัญญานความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย เพราะสหภาพต้องการขยับตัวออกจากประเทศจีน ผลจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และบรัสเซลส์เองก็มองว่ากรุงปักกิ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าด้วย”

Nguyen กล่าวว่า “ความตั้งใจที่จะเจรจากับประเทศไทยผ่านการลงนามในกรอบความตกลงนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ประเทศไทยแต่ยังรวมถึงประเทศทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดียด้วย”

ในเดือนธันวาคม สหภาพยุโรป และ ASEAN จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำระดับประเทศเป็นครั้งแรกในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 45 ปีแบบกลุ่มต่อกลุ่ม

ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจะตามมาเป็นลำดับถัดไปหรือไม่

การสรุปข้อตกลง PCA อาจเป็นสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายเข้าใกล้การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มากขึ้น หากเกิดขึ้น ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ EU ทำ FTA ด้วย

Mr. David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ย้ำว่า “ข้อตกลง PCA และกระบวนการ FTA ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง”

อย่างไรก็ตาม Nguyen กล่าวว่า “หากดูจากแผนการดำเนินงาน FTA ของ EU กับประเทศอื่นในเอเชีย มีความเป็นไปได้ว่า PCA จะตามมาด้วยการทำ FTA กับประเทศไทย จากตัวอย่างของประเทศเวียดนาม ที่ลงนาม PCA กับสหภาพยุโรปในปี 2558 เช่น และตามมาด้วยการอนุมัติ FTA อีก 4 ปีต่อมา “เรายังมีอุปสรรคอื่นๆ ที่ต้องข้ามผ่าน แต่แน่นอนว่าความตกลง FTA นั้นใกล้เข้ามาแล้ว”

Mr. Bryan Tse หัวหน้านักวิเคราะห์ประเทศไทยจาก Economist Intelligence มองว่า ความตกลง FTA จะได้รับการลงนามระหว่างปีพ.ศ. 2567 ถึง ปีพ.ศ. 2569 เว้นแต่จะมีสถานการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น

ในขณะนี้กรุงเทพฯ กำลังอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด หลังจากศาลรัฐธรรมนูญของประเทศติดสินเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่งชั่วคราว เนื่องจากมีการพิจารณาว่า มีการการดำรงตำแหน่งเกินกำหนดระยะเวลา 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่เข้ายึดอำนาจหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2557

Mr. Bryan Tse กล่าวว่า “สหภาพยุโรปและไทยไม่ได้มีความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับประเทศจีน สหรัฐอเมริกา หรือสมาชิกอาเซียน ดังนั้นนี่จึงเป็นกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงสำหรับทั้งสองและยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของการค้าทั่วโลกสำหรับประเทศอื่นๆ”

Edited by: Alex Berry

News published on Deutsche Welle, authored by David Hutt, Thai translation by TEFSO

Source: Hutt, D., 2022. EU and Thailand cap turbulent decade with a partnership agreement. Deutsche Welle, [online] Available at: <https://www.dw.com/en/eu-and-thailand-cap-turbulent-decade-with-a-partnership-agreement/a-63019958> [Accessed 8 September 2022].

Comments are closed.

X