แวดวงคนทำไม้: คุณประเสริฐ เอี่ยมดีงามเลิศ พูดคุยโรงเลื่อยจักรกับตลาดที่เปลี่ยนไป

โรงเลื่อยจักรเป็นจุดแปรรูปไม้ขั้นต้นที่เปลี่ยนซุงไม้ให้กลายเป็นท่อนไม้สำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย โรงเลื่อยจักรจึงเป็นหัวใจสำคัญในห่วงโซ่อุปทานไม้ และเป็นแหล่งรายได้ของผู้ประกอบการไม้ของไทย แต่ด้วยกฎหมาย และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมที่เคยเติบโตต้องยุบตัวลง คอลัมน์คนทำไม้ฉบับนี้พาทุกท่านมารู้จักกับ คุณประเสริฐ เอี่ยมดีงามเลิศ ประธานสมาคมโรงเลื่อยจักร ที่มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจโรงเลื่อยจักรในปัจจุบัน

ความเป็นมาของสมาคม

สมาคมโรงเลื่อยจักรเกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการโรงเลื่อยจักรเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ด้วยที่ประเทศไทยในขณะนั้นมีการให้สัมปทานไม้สัก และกฎหมายอำนวยการส่งออกไม้สัก ทำให้ไม้สักและผลิตภัณฑ์จากไม้สักเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ โรงเลื่อยจักรซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมจึงถูกตั้งขึ้นเพื่อเน้นในการแปรรูปไม้สัก เพื่อส่งไปยังโรงงานแปรรูปขั้นที่สองออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายหรือส่งออก แต่เมื่อช่วงปี 2530 ที่มีการยกเลิกสัมปทาน ควบคุมการส่งออก และประกาศให้ไม้สักเป็นไม้หวงห้าม การขาดแคลนวัตถุดิบไม้สัก ทำให้ยุครุ่งเรืองของโรงเลื่อยจักรจบลง ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกอยู่ 30 คน ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการขนาด SME

โรงเลื่อยจักร กับ สถานการณ์การผลิต และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป

ด้วยกฎระเบียบเรื่องไม้สัก ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป อุปทานแรงงานฝีมือและต้นทุนการผลิต ทำให้โรงเลื่อยจักรลดขนาดลง ‘เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่มีการให้สัปทานไม้สัก โรงเลื่อยจักรสามารถหาไม้สักจากในประเทศได้ ประกอบกับกฎหมายเรื่องการส่งออกในตอนนั้น ทำให้ไม้สักแปรรูปเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย ต่อมาในช่วงปี 2530 มีการยกเลิกสัมปทานไม้สัก และให้ไม้สักเป็นไม้หวงห้าม ทำให้โรงงานต้องใช้ไม้สักนำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ เมื่อประเทศเมียนมาร์ หันมาจำกัดการส่งออกไม้สักของเขา ทุกวันนี้ก็ต้องไปนำเข้าจากประเทศแถบละตินอเมริกา และแอฟริกา’

ส่วนการใช้ไม้สักจากสวนป่าและที่ดินเอกชนนั้น คุณประเสิรฐเห็นว่า ‘โรงงานใช้ไม้กลุ่มนี้อยู่ แต่เสียตรงที่คุณภาพของไม้กลุ่มนี้ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยระยะเวลาปลูกเพียง 20-30 ปี ทำให้คุณภาพไม่ได้เท่ากับที่ลูกค้าคาดหวังจากไม้สักซึ่งถูกมองว่าเป็นวัตถุดิบพรีเมี่ยม การปลูกไม้สักเป็นการลงทุนระยะยาว หากจะได้ไม้สักคุณภาพสูงจริงๆ ต้องรอกว่า 50 ปี เกษตรกรหลายคนเมื่อขายสวนป่าสักล็อตหนึ่งหมดแล้ว ก็หันไปปลูกอย่างอื่นเลย เพราะได้ผลตอบแทนเร็วกว่า’

ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนที่สูงก็มีผล ‘แรงงานปัจจุบันลดน้อยลง เพราะการแปรรูปไม้สักต้องใช้แรงงานฝีมือ คนงานที่มีอยู่ส่วนมากเป็นลูกหลานของคนงานเก่า แต่ถ้าเขามีโอกาสที่ดีกว่า เขาก็ไปทำอย่างอื่น เพราะโรงงานไม้สักก็เป็นงานที่ต้องใช้แรงสูง เสียงดัง’

‘ต้นทุนการผลิตที่สูงก็เป็นอุปสรรค การแปรรูปไม้มีเศษเหลือทิ้งเยอะ เช่น หากต้องการไม้ขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร ต้องใช้วัตถุดิบถึง 200 ลูกบาศก์เมตร ทำให้บางครั้งต้องยกเลิกออเดอร์ลูกค้าไปเลยก็มี เพราะไม่คุ้มที่จะผลิต ปัญหาของผลิตภัณฑ์ไม้อยู่ที่ข้อจำกัดในเรื่องต้นทุน ระยะเวลา และจำนวนที่ผลิตได้ เราไม่สามารถผลิตจำนวนมากในราคาที่ต่ำเหมือนพวกวัตถุดิบสังเคราะห์ได้’

‘ถ้าดูกันความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปมีผลอย่างมาก วัตถุดิบที่ใช้ในการสร้างบ้าน สิ่งของเครื่องใช้ในปัจจุบันเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์เกือบหมด เหลือแค่พวกบานประตู พื้น ที่ยังมีไม้อยู่บ้าง’

คุณประเสริฐยอมรับว่าทางสมาชิกยังไม่มีแผนการปรับตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ในระยะยาว ปัจจุบันก็ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า บางโรงงานก็ปรับตัวไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น ไม้ประกอบ ไม้ประสาน หรือบางที่ก็ผันตัวไปเป็นผู้ค้าเลย คือเป็นคนกลางในการนำเข้าไม้สักแปรรูปมาขายตามออเดอร์ของลูกค้าในประเทศ

บทบาทของโรงเลื่อยจักรในการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน

จากการที่อยู่ในวงการไม้มาเป็นเวลานาน โรงเลื่อยจักรต่างจัดการห่วงโซ่อุปทาน และตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายเป็นเรื่องปกติ อย่างไม้นำเข้าก็ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด คือ ประกอบพิธีการทางศุลกากร และมีการตรวจร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้และศุลกากร ก่อนนำออกก็มีการออกใบเบิกทาง เมื่อนำเคลื่อนไปทุกที่ก็มีการบันทึก จนไม้เข้าโรงงานแปรรูปขั้นที่สองซึ่งถือเป็นการควบคุมในจุดถัดไปต่อจากโรงงานแปรรูปขั้นต้น ไม้จากสวนป่าก็ดำเนินการตามที่ พ.ร.บ. สวนป่า กำหนด

นอกจากที่กฎหมายระบุให้ต้องทำแล้ว โรงงานก็มีการดำเนินการประเมินและบรรเทาความเสี่ยงมาตลอด คือ มีการประเมินความน่าเชื่อถือของไม้ เน้นซื้อจากผู้ขายที่ค้าขายกันมานาน มีการลงพื้นที่ เก็บเอกสารเพิ่มเติมต่างๆ’

เมื่อถามถึงการดำเนินการปัจจุบันหลังจากที่รัฐบาลให้ไม้สักและชนิดไม้หวงห้ามอื่นจากที่ดินเอกชน ที่ดินที่รัฐอนุญาต ไม่เป็นไม้หวงห้ามแล้ว คุณประเสริฐเห็นว่า ‘ต้องยอมรับว่าโรงงานหลายที่ยังสับสนว่าต้องดำเนินการอย่างไร ยังไม่ทราบชัดเจนว่าไม้จากที่ดินอะไรต้องมีเอกสารทางกฎหมายอะไร หรือ ไม่ต้องมีแล้ว ปัจจุบันที่ทำคือประเมินและบรรเทาความเสี่ยง และนำไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเผื่อไว้ก่อน จะได้ไม่เกิดปัญหาตามหลังให้เจ้าหน้าที่มาถามได้ว่าทำไมถึงไม่แจ้ง รู้ได้อย่างไรว่าไม่ต้องแจ้ง’

ปัญหาในเรื่องการตีความ ความเข้าใจกฎหมาย และการบังคับใช้

จากที่กล่าวไปเรื่องความไม่ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติต่อไม้อย่างไร คุณประเสิรฐให้ข้อวิเคราะห์ว่า ‘ส่วนมากเกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายเอง การขาดการสื่อสารการตีความกฎหมายที่ถูกกฎหมาย ส่งผลให้เกิดความสับสนเมื่อนำไปใช้ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้น แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐด้วย’

ทั้งนี้คุณประเสริฐก็เห็นว่าวิธีแก้อยู่ที่การออกคำแนะนำในการปฏิบัติอย่างชัดเจน ‘ขอให้มีการออกคำแนะนำอธิบายขั้นตอน ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่จะได้ไม่ต้องใช้วิจารณญานตนในการตีความ’ นอกจากนี้ยังควรมีการสื่อสารให้ชัดเจนไปยังผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ถึงกฎหมายที่ยังมีผลอยู่และที่ยกเลิกหรือแก้ไขไปแล้ว ‘กฎหมายมีการแก้ไขและออกมาใหม่หลายฉบับ ผู้ประกอบการเองก็สับสนว่าฉบับไหนมีผลอยู่ ฉบับไหนมีการแก้ไปแล้ว และยังเจอหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ก็ยังขาดความเข้าใจ ทำให้เข้าตรวจผิดก็มี’

ความพยายามขับเคลื่อนการพัฒนาด้านกฎหมายของสมาคมโรงเลื่อยจักร

คุณประเสริฐเล่าว่า ‘สมาคมโรงเลื่อยจักรพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายมาแล้วกว่า 30 ปี ตั้งแต่ประธานคนก่อน จากนั้นก็ได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจไม้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แต่ก็ไม่มีผลมากนัก เพราะต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของโรงงานแปรรูปเมื่อก่อนถูกมองว่าเป็นกลุ่มนายทุน เมื่อออกมาขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายก็กลายเป็นถูกมองว่าเป็นการตักตวงทางธุรกิจเท่านั้น แต่ 4-5 ปีมานี้ จะเห็นว่าการผลักดันการแก้กฎหมายพัฒนาไปเร็วขึ้นมาก’

เมื่อถามถึงผลของ FLEGT VPA ในการขับเคลื่อนการแก้กฎหมาย คุณประเสริฐเห็นว่า ‘มีส่วนทำให้หลังๆ มานี้การแก้กฎหมายไปได้มากขึ้น เพราะกระบวนการ FLEGT VPA เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มาทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการป่าไม้เข้าใจกันมากขึ้น และมีการเปลี่ยนมุมมองใหม่ ไม่ได้มองว่านายทุนเป็นพ่อค้าหน้าเลือดอย่างเดียว แต่มองว่าภาคการป่าไม้จะต้องอาศัยทุกคนทั้งเกษตรกร โรงงาน ผู้ค้า เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้เติบโตต่อไป’

Comments are closed.

X