17 มิ.ย. 2564 – คณะทำงานจัดทำ FLEGT VPA จัดการประชุมครั้งที่ 6 ของปี เพื่อพิจารณาร่างภาคผนวกที่ 1 ขอบเขตผลิตภัณฑ์ ร่างแนวทางการยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ในที่ดิน สปก. และร่างแนวคิดการควบคุมการนำเข้าไม้
คณะทำงานฯ เห็นชอบ ภาคผนวกที่ 1 ขอบเขตผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งไปอียูเตรียมการเจรจา ในการจัดทำร่างภาคผนวกดังกล่าว ได้มีการหารือ และพิเคราะห์อย่างต่อเนื่องโดยคณะทำงาน FLEGT VPA และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียวงกว้าง เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาสะท้อนตลาดไม้ของประเทศ มีการแก้ไขสำคัญเกิดขึ้นในประเด็นเรื่องผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ซึ่งได้ข้อสรุปว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษจากวัตถุดิบรีไซเคิล จะถูกยกเว้นจากข้อตกลง FLEGT VPA สินค้าดังกล่าวสามารถเข้าอียูได้โดยไม่ต้องมีหนังสือรับรอง FLEGT คณะทำงาน FLEGT VPA ด้วยความสนับสนุนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะออกแบบกระบวนการออกหนังสือรับรอง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถรับหนังสือรับรองเพื่อยืนยันสถานะรีไซเคิลเมื่อส่งไปยังอียู
ร่างแนวทางการยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ในที่ดิน สปก. ผ่านความเห็นชอบ โดยเอกสารจะช่วยแนะนำ 3 ทางเลือกให้เกษตรกรสามารถเลือกเพื่อสำแดงความถูกต้องของแหล่งที่มาไม้ จากที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2564 ได้ประกาศให้การตัดโค่น และการแปรรูปไม้จากที่ดิน สปก. ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต กฎระเบียบปัจจุบันให้เกษตรกรสามารถขอออกหนังสือรับรองไม้ตาม 18/1 จดทะเบียนสวนป่า หรือแจ้งต่อนายอำเภอ เมื่อต้องการนำเคลื่อนไม้ แนวทางของที่ดินสปก. ได้เพิ่มการสำแดงความถูกต้องด้วยตนเองให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของเกษตรกร
คณะทำงานจัดทำข้อตกลงฯ ยังได้เห็นชอบข้อแก้ไขร่างแนวคิดการควบคุมการนำเข้าไม้ ในประเด็นสำคัญ อย่างกฎระเบียบการทำ due diligence แนวทางการประเมินความเสี่ยง และการจัดเตรียมทางกฎระเบียบและองค์กร
กระบวนการ FLEGT VPA ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำงานต่างๆ ที่สนับสนุนโดย EU-FAO FLEGT Programme เพื่อเติมเต็มความถูกต้องตามกฎหมาย และการควบคุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ไทย โครงการศึกษามาตรการโรงงานแปรรูปแรกเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของไม้เข้าโรงงานและการประเมินความเสี่ยง โครงการอยู่ระหว่างการศึกษา วิธีการที่โรงงานใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องในปัจจุบันก่อนซื้อไม้ ข้อค้นพบของโครงการจะช่วยคณะทำงานในการออกแบบแนวทางเพื่อมาเติมเต็มกระบวนการของโรงงาน ส่วนหนึ่งของโครงการยังมีการวิเคราะห์สต็อกไม้ยืนต้นของไทย และนำเสนอวิธีการที่รัฐบาลไทยใช้ในการป้องกันไม้ที่ถูกยึดเข้าห่วงโซ่อุปทาน
การเร่งรัดการเจรจา FLEGT VPA เริ่มเห็นผล ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก FLEGT Asia Programme, European Forest Institute และ EU-FAO FLEGT Programme ร่างภาคผนวก 4 ร่างพร้อมนำเข้าการเจรจาในปีนี้แล้ว ประกอบด้วย ร่าง ภาคผนวกที่ 1 ขอบเขตผลิตภัณฑ์ ภาคผนวกที่ 4 กลไกการออกหนังสือรับรองเฟล็กที ภาคผนวกที่ 5 THA-TLAS และภาคผนวกที่ 6 การควบคุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ไทย เมื่อไทยและอียูได้พิจารณาร่างทั้งหมด 10 ภาคผนวกแล้ว จะได้เข้าสู่กระบวนการเซ็นสัญญาข้อตกลง จากนั้นจะเคลื่อนสู่ขั้นตอนการดำเนินการข้อตกลง โดยในระยะแรกการดำเนินการ ไทยจะต้องจัดเตรียมองค์กร และกฎระเบียบ รวมถึงพัฒนาการบังคับใช้กฎหมาย และความโปร่งใสของภาคป่าไม้ เพื่อรองรับการดำเนินการระบบ THA-TLAS และหนังสือรับรอง FLEGT