การประชุมปฏิบัติการเชิงเทคนิคระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (EFI)

เมื่อวันที่ 19 – 20 มิถุนายน 2561 สำนักงานเลขานุการ ไทย – อียู เฟล็กที (TEFSO) ได้จัดการประชุมปฏิบัติการเชิงเทคนิคขึ้นระหว่างคณะทำงานกลุ่มย่อยและผู้แทนฝ่ายสหภาพยุโรป โดยสถาบันป่าไม้ยุโรป (EFI) การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำและพัฒนาเอกสารในเรื่องนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (LD) และระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (TLAS) รวมทั้งการตรวจพิสูจน์ไม้นอกมาตรา 7 บนที่ดินเอกชน ไปจนกระทั่งระบบสอบทานเอกสารของประเทศไทย

การประชุมในวันที่ 19 มิถุนายน เริ่มต้นที่การพูดคุยเกี่ยวกับวาระการประชุมของทั้งสองวันระหว่าง TEFSO และ EFI ก่อนจะเข้าสู่การหารือระหว่างคณะทำงานกลุ่มย่อยการนำเข้าไม้ นำโดยผู้นำคณะทำงานกลุ่มย่อยการนำเข้าไม้ ซึ่งทางฝ่าย EFI ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงแบบฟอร์มมาตรฐานการสำแดงตนเองของฝ่ายไทย รวมไปถึงคำแนะนำในการปรับแผนผังการนำเข้าไม้ของไทย ทั้งนี้ ยังคงมีบางประเด็นที่ต้องมีความชัดเจนมากขึ้น อาทิ หน้าที่รับผิดชอบระหว่างกรมศุลกากรและกรมป่าไม้ รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่าง National Single Window ของไทยและระบบการสอบทานเอกสาร หรือ Due Diligence System

สำหรับการประชุมในช่วงบ่าย เริ่มด้วยการหารือในเรื่องการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Control) ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงสรุปเนื้อหาของการประชุมในวันแรกนี้ โดยได้มีการแนะนำให้จัดทำตารางห่วงโซ่อุปทาน โดยจำแนกตามแหล่งที่มาของไม้ พร้อมคำอธิบายลงในตาราง เพื่อให้เห็นความชัดเจนในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน

ในวันที่ 20 มิถุนายน การประชุมเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามจากฝ่ายไทยในประเด็น VPA Legal Text จากนั้นตามด้วยการหารือกับคณะทำงานกลุ่มย่อยในการจัดทำนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย (LD) โดยการนำเสนอของนางสาวภาวินี อุดมใหม่ ที่ปรึกษาในการปรับแก้ร่างนิยามตามกฎหมาย โดยจากการหารือ ที่ปรึกษาฯ จะดำเนินการปรับแก้ร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมายผ่านการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอในการประชุม AHWG จากนั้นจึงจะส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้แก่ผู้แทน EFI ต่อไป

ในวันเดียวกัน คณะทำงานกลุ่มย่อยเรื่องไม้ไม่หวงห้ามบนที่ดินเอกชน (ไม้นอกมาตรา 7) ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทน EFI ซึ่งได้แนะนำให้ฝ่ายไทยหารือเพิ่มเติมเพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องแผนผังและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังแนะนำให้รวมเอกสารให้เหลือเพียงหนึ่งเอกสาร เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจอีกด้วย

จากนั้น คณะทำงานกลุ่มย่อยเรื่องระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ได้รับฟังคำแนะนำจากผู้แทน EFI ซึ่งได้ให้คำอธิบายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างหน่วยในการตรวจพิสูจน์และหน่วยออกใบอนุญาต FLEGT แก่คณะทำงานกลุ่มย่อยฯ ทั้งยังให้คำแนะนำในการพัฒนาร่างเอกสาร TLAS สำหรับคณะทำงานกลุ่มย่อยฯ ในการพัฒนาเอกสารดังกล่าวต่อไป

การประชุมในครั้งนี้ ผู้แทนสหภาพยุโรป โดย EFI ยังได้ให้คำแนะนำแก่ฝ่ายไทยในการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมครั้งต่อไปที่กำลังจะมาถึงในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน ซึ่งในระหว่างนี้ ฝ่ายไทยมีระยะเวลาในการนำข้อเสนอแนะที่ได้รับมาปรับแก้และปรับปรุงเอกสารให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป

Comments are closed.

X