การประชุมทางไกลระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป (Video Conference)

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 สำนักงานเลขานุการไทย – อียู เฟล็กทีได้จัดการประชุมทางไกล (Video Conference) ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป โดยมีนายประลอง ดำรงค์ไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำการประชุมฝ่ายไทย และมีนายลูก้า เพอร์เรซ (Luca Perez), European Commission รับหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายสหภาพยุโรป การประชุมทางไกลครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมผู้เชี่ยวชาญร่วมครั้งที่ 4 (JEM 4) และการประชุมเจรจาระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป ครั้งที่ 2 (NEG 2) ที่จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นลำดับต่อไป โดยมุ่งเน้นหารือความก้าวหน้าในการดำเนินการในประเด็นต่างๆ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

นิยามความถูกต้องตามกฎหมาย (Legality Definition: LD)

ฝ่ายไทยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว โดยมีมติให้ดำเนินการปรับแก้ LD และจ้างที่ปรึกษาภายนอกเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยฝ่ายอียูแจ้งว่าการพัฒนาเชิงนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่ของฝ่ายไทยนั้นมีความสำคัญสำหรับอียู จึงต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับแก้กฎหมายที่จะมีผลกระทบต่อการทำ LD นอกจากนั้น ฝ่ายอียูได้ขอให้ไทยส่งคำอธิบายเกี่ยวกับความก้าวหน้าของ LD และเอกสารที่เกี่ยวข้องก่อนการประชุมผู้เชี่ยวชาญร่วมครั้งต่อไป (JEM 4) เพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อมก่อนการประชุม ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยืนยันว่าจะส่งเอกสารดังกล่าว (จัดเตรียมโดยที่ปรึกษาฯ และกรมป่าไม้) ภายในวันที่ 9 มิ.ย. 2561

การยืนยันความถูกต้องของไม้บนที่ดินเอกชน

ฝ่ายไทยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวและได้มีการพัฒนาเอกสารอย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายอียูได้ให้การสนับสนุนงบประมาณผ่าน FAO และ EFI เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและที่ปรึกษาในการประเมินช่องทางและความเป็นไปได้ในการพัฒนาช่องทาง self declaration รวมทั้งสนับสนุนคณะทำงานในการร่างเอกสาร Thai Legality Assurance System (TLAS) และ Supply Chain Controls (SCC) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอียูเห็นว่าทางเลือกต่างๆ ในการยืนยันความถูกต้องของไม้บนที่ดินเอกชนนั้นต้องมีการทดสอบภาคสนาม โดย EFI คาดหวังว่า หลัง JEM 4 ฝ่ายไทยจะมีแนวทางที่ชัดเจนในทางเลือกที่เหมาะสมต่อไป

การควบคุมการนำเข้าไม้

ฝ่ายไทยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวและได้มีการพัฒนาเอกสารอย่างต่อเนื่อง โดยจากการประชุม JEM 3 คณะทำงานกลุ่มย่อยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันในการนำระบบ DDS มาควบคุมการนำเข้าไม้ โดยคณะทำงานกลุ่มย่อยจะหารือเพื่อกำหนดแนวทางและนำไปทดสอบจริงเพื่อสะท้อนให้เห็นข้อดีข้อเสียก่อนที่จะนำไปใช้จริง ทั้งนี้ ฝ่ายอียูแจ้งว่า องค์ประกอบสำคัญของการเจรจา VPA ได้แก่ ความก้าวหน้าของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ วิธีการในการลงโทษสำหรับ DDS ความสัมพันธ์กับการหารือ ประเด็นนอกเหนือที่มีความสำคัญ โดยฝ่ายไทยแจ้งว่า กลไกการตรวจสอบข้อบังคับ ฝ่ายไทยจะนำมาหารือในรายละเอียดในการประชุม JEM 4 ต่อไป

ความก้าวหน้าเรื่องขอบเขตผลิตภัณฑ์

จากการประชุม JEM 3 ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยรับที่จะไปหารือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลและไผ่ว่าจะนำเข้า PS ด้วยหรือไม่ โดยฝ่ายอียูย้ำว่า หากมีการนำไผ่เข้าในขอบเขตผลิตภัณฑ์ ควรมีกระบวนการตรวจพิสูจน์ที่ชัดเจน ทั้งนี้ อียูเองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะถอดไผ่ออกจาก EUTR หรือไม่ โดยประเด็นนี้จะนำมาหารือใน JEM 4 ต่อไป

ความก้าวหน้า TLAS และการจ้างที่ปรึกษา

ฝ่ายไทยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว โดยได้มีการพัฒนาเอกสารต่อจากร่างแรกผ่านกระบวนการหารือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะทำงานกลุ่มย่อย และล่าสุดได้มีการหารือถึงประเด็นหน่วยงานที่จะออกใบอนุญาตและอยู่ระหว่างการหารือ ในการประชุม JEM 3 ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องในการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาสนับสนุนการจัดทำเอกสารดังกล่าวผ่านงบประมาณของ FAO

ความเห็นเกี่ยวกับ VPA Legal Text

ฝ่ายไทยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อมาพิจารณาเรื่องนี้ และได้จัดทำคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่สงสัยโดยได้ส่งให้ทางอียูเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ฝ่ายอียูยังกระตุ้นให้ไทยช่วยจัดทำ VPA Roadmap สำหรับการเจรจาครั้งต่อไป

Comments are closed.

X