ประเทศไทยและสหภาพยุโรป (EU) ได้จัดการเจรจาการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า (FLEGT) โดยเป็นกระบวนการที่ดำเนินการผ่านระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะช่วยพัฒนาธรรมาภิบาลป่าไม้ และจัดการกับการทำไม้ผิดกฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมการค้าผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการตรวจพิสูจน์ไปยังตลาดอียูรวมถึงตลาดอื่นๆ
การเจรจา FLEGT VPA ในครั้งนี้ จัดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 กรุงเทพมหานคร โดยมีนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำการเจรจาฝ่ายไทย และนาย Jorge RODRIGUEZ ROMERO Deputy Head of Unit, European Commission Directorate General for Environment เป็นตัวแทนผู้นำฝ่ายสหภาพยุโรป
สำหรับข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า (FLEGT VPA) ประเทศไทยจะจัดทำระบบเพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม โดยกระบวนการ FLEGT ของประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางด้านกฎหมายที่สำคัญ อาทิ การทบทวนพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งการปฏิรูปนี้มีความเชื่อมโยงกับกระบวนการ FLEGT ซึ่งมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมการทำป่าไม้ชุมชนและส่งเสริมการปลูกต้นไม้ รวมถึงการตัดหรือโค่นไม้โดยเกษตรกรบนที่ดินเอกชน
ประเด็นในการเจรจาที่สำคัญครั้งนี้มีดังต่อไปนี้
- เนื้อความทางกฎหมาย (Legal Text) ในข้อตกลง VPA
- ขอบเขตผลิตภัณฑ์ในข้อตกลง VPA
- การพัฒนาต่อเนื่องเรื่องนิยามของไทยในหลักการ (Principles) หลักเกณฑ์ และตัวตรวจพิสูจน์การปฏิบัติตามข้อบังคับทางกฎหมายสำหรับไม้ตามที่ได้มีการทดสอบภาคสนามในปี พ.ศ. 2560
- การนำเคลื่อนที่ไม้ของประเทศไทย (Supply Chain Controls)
- ระบบในการรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของแหล่งที่มาของไม้นำเข้าจากประเทศแหล่งปลูก (Country of Harvest)
ประเทศไทยและสหภาพยุโรปยังได้มีการหารือโรดแมป (Roadmap) การดำเนินการร่วม (Joint Activities) และการประชุมทางเทคนิคร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาครั้งที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2562
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้นำการเจรจาฝ่ายไทยกล่าวว่า “ข้อตกลง VPA เป็นโอกาสของไทยในการสร้างความเข้มแข็งทางการค้ากับอียูและกับตลาดอื่นๆ ทั้งยังสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ และส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยที่มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล”
นาย Jorge RODRIGUEZ ROMERO Deputy Head of Unit European Commission Directorate General for Environment กล่าวว่า “พวกเรามีความยินดีกับความก้าวหน้าของไทยในการจัดทำองค์ประกอบหลักต่างๆ ของระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ในข้อตกลง VPA และมุ่งหวังที่จะเห็นการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ไปจนกระทั่งถึงบทสรุปและความสำเร็จของการเจรจาในที่สุด เราสนับสนุนให้ฝ่ายไทยร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ จากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าข้อตกลง VPA นี้ มีความเข้มแข็ง สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพ”
ข้อตกลง VPA กับประเทศต่างๆ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญในแผนการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้าของสหภาพยุโรป (EU FLEGT Action Plan) ซึ่งมุ่งเอาชนะการทำไม้ผิดกฎหมาย และสนับสนุนการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีความพยายามที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง โดยมีประเทศต่างๆ จำนวน 15 ประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจาหรือกำลังดำเนินการข้อตกลง VPA กับสหภาพยุโรป
จากประสบการณ์ในกระบวนการ VPA อื่นๆ สหภาพยุโรปและประเทศไทยตระหนักว่าการเจรจาและการดำเนินการตามข้อตกลง VPA นับเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่มีความสำคัญ และจะนำมาซึ่งการพัฒนาธรรมาภิบาล และกฎหมาย รวมทั้งการพัฒนาทางเทคนิค ในการนี้ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอียูจึงได้มีการตกลงร่วมกันที่จะรักษาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดนี้ไว้ ทั้งในระดับเทคนิคและในระดับนโยบายต่อไป