(TH) TEFSO E-NEWSLETTER NO.8 (JUL-AUG’17)

จากการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป เรื่อง FLEGT VPA เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดแผนการดำเนินการ (VPA Roadmap) ที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย โดยแผนดังกล่าวได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านเว็บไซต์ www.tefso.org



ฉบับที่ 8 ประจำเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ.2560


                จดหมายข่าว TEFSO


สำนักงานเลขานุการไทย – อียู เฟล็กที

The FLEGT
ความก้าวหน้าหลังการเจรจาไทย – อียู เฟล็กที
จากการเจรจาการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป เรื่อง FLEGT VPA เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดแผนการดำเนินการ (VPA Roadmap) ที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย โดยแผนดังกล่าวได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านเว็บไซต์ www.tefso.org เพื่อประชาชนที่สนใจสามารถติดตามแผน รวมทั้งกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการเจรจาครั้งแรกไปแล้วนั้น ประเทศไทยโดยสำนักงานเลขานุการไทย – อียู เฟล็กที (TEFSO) กรมป่าไม้ ได้จัดการประชุมคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FLEGT VPA) ขึ้นจำนวน 3 ครั้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีในการทดสอบภาคสนามของนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย (LD) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทดสอบการนำไปปฏิบัติจริงของ LD ตามพื้นฐานของกฎหมาย โดยได้รับการสนับสนุนที่ปรึกษาและการดำเนินการจากสหภาพยุโรป และประเทศไทยโดยกรมป่าไม้ส่วนหนึ่ง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการควบคุมไม้นำเข้า และการตรวจพิสูจน์ไม้ไม่หวงห้ามบนที่ดินเอกชน ซึ่งผลจากการประชุมดังกล่าวทำให้เกิดคณะทำงานเฉพาะกิจในการนำเสนอแนวทางจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจะนำไปสู่การหารือโต๊ะกลมอีกครั้งต่อไป กิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปจะอยู่บนพื้นฐานแผนการดำเนินงาน (VPA Roadmap) โดยได้มีแผนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 ถึงมีนาคม 2561 (ตั้งแต่การประชุมเจรจาครั้งแรกถึงการประชุมเจรจาครั้งต่อไป)
ส่องเฟล็กที
ทดสอบแล้ว!ข้อตกลงความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ระหว่างสหภาพยุโรปและกายอานา

ประเทศกายอานาก้าวเข้าไปใกล้สู่ขั้นตอนสุดท้ายในการทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) กับสหภาพยุโรป (EU) หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเจรจาที่สำคัญแล้ว         การทดสอบภาคสนามคือขั้นตอนต่อไปที่จะช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประเมินความก้าวหน้าและให้คำแนะนำเพื่อทำการเจรจาตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจประสบความสำเร็จ

การทดสอบภาคสนามช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถประเมินการปฏิบัติ และสร้างความน่าเชื่อถือของคำจำกัดความตามกฎหมายของ VPA และขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพไม้ของประเทศกายอานาอีกด้วย

กว่าสองสัปดาห์ในเดือนมิถุนายน ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มคนในพื้นที่ และองค์กรภาคประชาสังคมจะเดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศและรวบรวมมุมมองและความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวน 150 ราย ซึ่งเป็นผู้ประเมินหลักในการทดสอบ VPA นี้

ผู้มีส่วนได้เสียในกายอานากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อระบุปัญหาช่องว่างและโอกาสในการจัดการทดสอบภาคสนาม ประเทศกายอานามีความคืบหน้าอย่างมากในกระบวนการ VPA หลังจากการเจรจาในเดือนธันวาคม 2555 เนื่องจาก VPA มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย เมื่อได้รับการยอมรับแล้ว VPA จะมอบหมายให้ทั้งสองฝ่ายค้าเฉพาะผลิตภัณฑ์ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ถูกต้องซึ่ง VPA จะครอบคลุมตลาดในประเทศกายอานารวมถึงการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปอีกด้วย

ที่มา :http://www.flegt.org/news/content/viewItem/guyana-and-eu-test-timber-legality-agreement-on-the-ground/29-06-2017/117

ห้องรับรอง

การฝึกอบรบเจ้าหน้าที่เพื่อลงพื้นที่ทดสอบภาคสนาม 

วันที่ 10-11 สิงหาคม 2560  Mr.James Sandom และนางสาวภาวิณี อุดมใหม่ ที่ปรึกษาโครงการทดสอบภาคสนามภายใต้ร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ (Auditor) ในการลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้งานได้จริงและประสิทธิภาพของข้อกำหนด ตัวชี้วัด และตัวตรวจพิสูจน์ ที่ระบุอยู่ในร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย ณ ห้องประชุม TEFSO อาคารสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร

การลงพื้นที่เพื่อทดสอบร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย (LD) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 22 กันยายน 2560 โดยทีมตรวจสอบจะลงพื้นที่ทดสอบทั้งสิ้น 58 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทีม Auditor ทีมละ 2 คน ทั้งสิ้น 3 ทีม โดยแต่ละพื้นที่จะเปิดโอกาสให้มีผู้สังเกตการณ์จากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ผลที่ได้จะการทดสอบจะถูกนำมาปรับปรุงให้ตัวตรวจพิสูจน์มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ร่างนิยามมีความสมบูรณ์ต่อไป

สาระ FLEGT 
ระบบสืบทานเอกสาร
(Due Diligence System: DDS)

ประกอบด้วย

1. ข้อมูล:ผู้ประกอบการ (ผู้นำเข้าหรือผู้ค้า) ต้องเข้าถึงข้อมูลที่อธิบายถึงไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ประเทศที่ตัดโค่น ชนิดพันธุ์ จำนวนสินค้า รายละเอียดของผู้ผลิต และข้อมูลที่สอดคล้องกับกระบวนการทางกฎหมายของประเทศ
2.การประเมินความเสี่ยง:ผู้ประกอบการต้องประเมินความเสี่ยงของไม้ที่ผิดกฎหมายในห่วงโซ่อุปทาน โดยอยู่บนพื้นฐานในข้อ1 ข้อมูลจำเพาะของประเทศที่ตัดโค่น ชนิดพันธุ์ไม้ หรือผลิตภัณฑ์อาจมีความเสี่ยงสูง
3.การลดความเสี่ยง: เมื่อพบความเสี่ยงของไม้ที่ผิดกฎหมายในระบบห่วงโซ่อุปทาน   ผู้ประกอบการต้องลดความเสี่ยงนั้นด้วยการขอข้อมูลและดำเนินการตรวจพิสูจน์เพิ่มเติมจากผู้ผลิต

มุมภาคี…

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) จัดการประชุมหารือเพื่อจัดทำข้อเสนอช่องว่างทางกฏหมาย (Gap paper) เรื่อง การรับรองแหล่งที่มาของไม้ที่ไม่มีการควบคุม เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์และความต้องการของผู้ประกอบการในการรับรองไม้ที่ไม่ถูกควบคุมในปัจจุบันและเพื่อหารือรูปแบบการรับรองไม้ที่ไม่ถูกควบคุมที่เหมาะสมและจัดทำข้อเสนอการรับรองไม้ที่ไม่ถูกควบคุมต่อคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป จากที่ประชุมได้มีการคัดเลือก 4 รูปแบบการรับรองไม้ที่ไม่มีถูกควบคุม ได้แก่  การยกเลิกไม้ 58 ชนิด ตามบัญชีแนบท้ายตาม พ.ร.บ. สวนป่า การออกแบบเเบบฟอร์มในการรับรองแหล่งที่มาของไม้ที่ไม่มีการควบคุมโดยภาครัฐ การรับรองตนเองโดยใช้กลไกท้องถิ่นและการใช้ระบบรับรองตามมาตราฐาน TFCC โดยข้อเสนอจากที่ประชุมจะถูกนำเสนอต่อคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป ในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ต่อไป

ที่มา : https://www.recoftc.org/project/flegt-thailand

สำนักงานเลขานุการไทย – อียู เฟล็กที (TEFSO)
เลขที่ 50 อาคารสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900  โทร. 02-561-5102, 02-561-5103 โทรสาร 02-940-5676 Website: www.tefso.org Facebook: TEFSO


Comments are closed.

X