จดหมายข่าว TEFSO ฉบับที่ 26 (ก.ย. – ธ.ค. 2564)

ในฉบับนี้พบกับบทความ

  • เครื่องมือดิจิทัล กับ อนาคตการรับรองไม้ของประเทศไทย
  • 3 ทางเลือกในการรับรองไม้ในที่ดินเอกชน
  • อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น สถานการณ์การค้า ความยั่งยืน และบทบาทใน FLEGT VPA กับ คุณปิงซุน หวัง
  • อธิบดีกรมป่าไม้ นายสุรชัย อจลบุญ กับ ความสำคัญ ความสำเร็จ และอนาคตของ FLEGT VPA

 


ก้าวกับเฟล็กที 

เครื่องมือดิจิทัล กับ อนาคตการรับรองไม้
ของประเทศไทย

เครื่องมือและระบบดิจิทัล เป็นหนทางสู่การมีระบบตรวจพิสูจน์และรับรองไม้ที่มีประสิทธิภาพ กรมป่าไม้จึงตั้งให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลเป็นหนึ่งในการทำงานหลักของปัจจุบัน ก้าวกับเฟล็กทีฉบับนี้ขอนำเสนอความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว และแผนในอนาคตของกรมป่าไม้ต่อการพัฒนาระบบดิจิทัล

RFD Single Window ระบบกลางสำหรับการรับรองไม้
RFD Single Window ของกรมป่าไม้จะถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และ ประชาชน ในการลงทะเบียนต่างๆ นัดหมายการตรวจพิสูจน์ บันทึกข้อมูล การประเมินผล และออกใบรับรอง โดยระบบจะครอบคลุมการรับรองไม้ การรับรองไม้เพื่อการค้าการส่งออก การอนุญาตโรงงานแปรรูป การออกใบเบิกทาง และอีกมากมาย ปัจจุบันระบบใบเบิกทางอิเล็กทรอนิกส์เริ่มใช้แล้ว ส่วนระบบอื่นๆยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบ
แอปพลิเคชั่นมือถือในการตรวจพิสูจน์ไม้ในพื้นที่

จากโครงการ “วิธีการเชิงเทคโนโลยีสำหรับการประสานระบบที่มีอยู่เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับของไม้ในประเทศไทย” สนับสนุนเงินทุนโดย FAO-EU FLEGT Programme กรมป่าไม้ ด้วยการสนับสนุนทางเทคนิคจาก ศูนย์เทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นมือถือสำหรับใช้โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการตรวจพิสูจน์ไม้ในพื้นที่ เพื่อออกหนังสือรับรองแหล่งที่มาของไม้ (18/1) และหนังสือรับรองไม้เพื่อการค้าหรือส่งออก (18/2) แอปพลิเคชั่นจะสามารถให้ทำการนัดหมาย และ บันทึกข้อมูลตรวจพิสูจน์ได้ในระบบดิจิทัลด้วยความเร็วเกือบ real-time ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบภาคสนาม ข้อมูลเพิ่มเติม
แผนในอนาคต
โครงการดังกล่าวยังได้ทำการศึกษาเครื่องมือเทคโนโลยีที่กรมป่าไม้ควรพัฒนาในอนาคต เพื่อเป็นแนวทางให้กรมป่าไม้ ดังนี้

  • ประยุกต์ใช้แอปพลิเคชั่นมือถือเป็นเครื่องมือหลัก
  • บาร์โคด หรือ QR code สำหรับการบันทึกและเข้าถึงข้อมูล
  • ระบบอัลกอลิทึมเพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของห่วงโซ่อุปทาน
  • ระบบตรวจจับภาพ AI เพื่อตรวจความถูกต้องของไม้ ข้อมูลเพิ่มเติม

ในปีนี้ กรมป่าไม้ได้เซ็น MOU กับ AIT เพื่อสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาระบบและเครื่องมือดิจิทัลต่อไปในระยะยาว

กฎหมายเข้าใจง่าย

3 ทางเลือกในการรับรองไม้ในที่ดินเอกชน

 

คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับไม้ในที่ดินเอกชนคงหนีไม่พ้นว่า เมื่อไม่ต้องขออนุญาตปลูก-ตัด-นำเคลื่อนแล้ว มีวิธีอะไรบ้างที่สามารถใช้ยืนยันความถูกต้อง? ใครที่ยังมีคำถามนี้ในใจ ตามไปชมวิดีโอนี้เลย

แวดวงคนทำไม้

กลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่นถือเป็นดาวเด่นของอุตสาหกรรมไม้ไทย โดยประเทศไทยครองตำแหน่งเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆของโลก มีมูลค่าการส่งออกและบริโภคในประเทศมากถึง 40,000 ล้านบาทต่อปี ความสำเร็จอุตสาหกรรมเอื้อประโยชน์กับภาคการป่าไม้ไทยทั้งหมด เพราะใช้วัตถุดิบไม้ที่ปลูกในประเทศ เช่น ยางพารา และ ยูคาลิปตัส เป็นหลัก

คุณปิงซุน หวัง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น มาร่วมพูดคุยกับ แวดวงคนทำไม้ ถึงการควบคุมความถูกต้องตามกฎหมายและความยั่งยืน สถานการณ์ตลาดปัจจุบัน-อนาคต และะบทบาทของกลุ่มใน FLEGT VPA

ความมุ่งมั่นของอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น ต่อ ความถูกต้องตามกฎหมายและความยั่งยืน
‘อุตสาหกรรมเราให้ความสำคัญต่อความถูกต้องตามกฎหมายและความยั่งยืนมาตลอด’ การตรวจสอบความถูกต้องของไม้จะแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ต่างกัน การบริหารจัดการของ MDF และ Plywood ที่ใช้ไม้ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ก็จะต่างกับ Particleboard ที่ใช้เศษไม้ที่ผ่านการแปรรูปจากโรงงานขั้นต้น สำหรับ MDF และ Plywood โรงงานมักซื้อกับผู้ที่ค้าขายกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น ซัพพลายเออร์ ลานไม้ หรือ กลุ่มเกษตรกรที่ทำสัญญาไว้ ถ้ามีการซื้อขายครั้งแรก จะลงพื้นที่ตรวจสอบก่อนเสมอ สำหรับกระบวนการของ Particleboard จะมีขั้นตอนน้อยกว่า เพราะใช้เศษไม้จากโรงงานแปรรูปขั้นต้น ซึ่งโรงงานมีการเก็บเอกสารมาแล้ว และสามารถส่งต่อให้ได้เลย ปัจจุบันเอกสารการสำแดงความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ด้วยตนเอง เป็นเอกสารที่ใช้หลักๆในการยืนยันความถูกต้องของแหล่งที่มาไม้

ด้านความยั่งยืนทางอุตสาหกรรมก็ทำมาโดยตลอด มีการรับรองโดย PEFC และ FSC เพราะเห็นด้วยกับหลักการ ในเรื่องการปลูกต้นไม้ทดแทนที่ตัดไป และตอบโจทย์ความต้องการของคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก

กลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น กับ กระบวนการ FLEGT VPA
ทางกลุ่มตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการ FLEGT VPA เพื่อผลักดันศักยภาพการแข่งขันของไม้ไทย เพื่อให้เกิดการยอมรับในความถูกกฎหมายของไม้ไทยในตลาดนานาชาติ นอกจากนี้แล้ว FLEGT VPA ยังตอบความต้องการของกลุ่มคือ การทบทวนกฎหมายป่าไม้ของไทย ที่สำเร็จไปแล้วเช่น การปลดล็อกมาตรา 7 เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมไม้อย่างมาก ให้สามารถปลูกและแปรรูปไม้ไทยได้ และลดการพึ่งพาไม้จากต่างประเทศ
สถานการณ์การผลิต และการค้าในปัจจุบัน และความน่าจะเป็นในอนาคต
ถึงแม้จะมีวิกฤติต่างๆ อย่าง สงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกา และการแพร่ระบาดของโควิด อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น ก็ยังคงก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็ง 
เมื่อถามถึงอนาคต คุณปิงซุน หวัง ตอบอย่างมั่นใจว่า ‘กลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่นก้าวต่อไปได้แน่นอน เพราะนอกจากการผลิตและการค้าที่เข็มแข็งแล้ว พวกเราไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาตลอด อย่างปัจจุบันมีการผลิต MDF ที่ยึดหยุ่นได้ และ Particleboard ที่ทนความชื้นได้
ก่อนจากกันคุณปิงซุน หวัง ขอฝากถึงภาครัฐว่า ‘อยากเห็นประเทศไทยลงนาม FLEGT VPA โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางการค้า ในปัจจุบันอินโดนีเซียออกหนังสือรับรอง FLEGT แล้ว และเวียดนามก็ลงนามไปแล้ว มองว่าประเทศไทยพร้อมที่จะลงนามแล้ว เพราะมีการหารือและทบทวนอย่างเข้มข้นมาตลอด ขอย้ำความต้องการของกลุ่มในการทำงานร่วมกับภาครัฐต่อไป’

มองเฟล็กที

 

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กับ ประโยชน์ของ FLEGT VPA ความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว และแผนการดำเนินงานต่อไปของกรมป่าไม้

Copyright © 2021 Thai-EU FLEGT Secretariat Office, All rights reserved.


Comments are closed.

X