รมว.ทส.พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ในประเทศไทย”

รมว.ทส. เปิดประชุมสร้างความเข้าใจ ภาครัฐ-ภาคเอกชน ดันธุรกิจค้าไม้ ใช้กฏหมายไม้ในประเทศไทย

วันที่ 21 กันยายน 2558 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ในประเทศไทย” ครั้งที่ 1 เรื่อง การแก้ปัญหาการลักลอบค้าไม้ที่ผิดกฎหมายโดยกลไกการค้าสากลอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจในการใช้กฎหมายป่าไม้ การค้าไม้ และการสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการดังกล่าว พร้อมนำผลการเสวนาไปใช้ในการดำเนินกระบวนการ FLEGT VPA (Forest Law Enforcement, Governance and Trade Voluntary Partnership Agreement – FLEGT VPA)

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกับการทำไม้ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งจะจัดขึ้นอีกจำนวน 4 ครั้งได้แก่ ที่จังหวัดขอนแก่น ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ซึ่งผลจากการประชุมทั้งหมดจะนำมาสังเคราะห์และนำเสนอในการประชุมปิดโครงการที่จะจัดที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยทั้งสามภาคส่วนจะร่วมกันนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นต่างๆมาหาบทสรุปและแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสนอให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ผู้แทนของทั้ง 3 ภาคส่วนจะได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการป่าไม้ในประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญทั้งสิ้น 8 ประเด็น ตั้งแต่เรื่องการปลูก การครอบครองของภาคประชาชน จนถึงการจัดจำหน่ายในภาคเอกชน ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะที่ได้มาจากการประชุมคณะทำงานจัดทำนิยามความถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 6 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน

การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียถือว่าเป็นการพลิกโฉมการทำงานของวงการป่าไม้ไทยเลยทีเดียว ที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินปัญหาเกี่ยวกับการปลูก การตัด และการครอบครองที่ไม่ชัดเจน รวมถึงการนำเข้าส่งออกไม้ที่ยังเป็นที่คาใจของต่างประเทศเกี่ยวกับความถูกต้องตามกฏหมาย และการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาของไม้ ซึ่งหากประเทศไทยพัฒนาการควบคุม ตรวจสอบ รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่ไม่ชัดเจนต่างๆ จะทำให้ความน่าเชื่อถือของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยมีมากขึ้นในระดับสากล อันจะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการควบคุมการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายอีกด้วย

[TH] Recommendation from Ad hoc on 21Sept'15
[TH] Recommendation from Ad hoc on 21Sept'15
TH-Recommendation-from-Ad-hoc-21Sept15.pdf
147.6 KiB
306 Downloads
รายละเอียด

 

Comments are closed.

X