ความพร้อมของอุตสาหกรรมไม้ไทยต่อกฎระเบียบ EU Deforestation-free products

ปัจจุบันที่ EU อยู่ระหว่างเตรียมประกาศใช้กฎระเบียบ Deforestation-free products บทความฉบับนี้เราได้ร่วมพูดคุยกับผู้แทนจากสมาคมธุรกิจไม้ และสมาคมโรงเลื่อยจักร เพื่อหารือมุมมองต่อผลกระทบ และความท้าทายที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมไม้

เมื่อพูดถึงการผลิตที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายป่า แน่นอนว่าสินค้าไม้เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนนึกถึง ทำให้เป็นสินค้าถูกจับตามอง และควบคุมมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันการศึกษาต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นว่านอกจากสินค้าไม้แล้ว ยังมีสินค้าเกษตร ที่มีความเสี่ยงการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อป่า ด้วยแนวคิดใหม่นี้ EU จึงเตรียมออกกฎระเบียบ Deforestation-free products  ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าไม้และเกษตรที่มีความเสี่ยงการทำลายป่า กำหนดให้ต้องผ่านการตรวจทานข้อมูล (Due Diligence) ก่อนวางขายหรือส่งออกจาก EU เมื่อรับทราบแผนการประกาศกฎระเบียบใหม่นี้ หลายฝ่ายทั่วโลกได้ออกมาแสดงความเห็น บ้างมองว่ากฎระเบียบเข้มงวดเกินไป และกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บ้างมองว่ากฎระเบียบยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ บทความฉบับนี้เรามาพูดคุยกับผู้แทนจาก สมาคมธุรกิจไม้ และสมาคมโรงเลื่อยจักร ในฐานะผู้ที่คุ้นเคยกับกฎระเบียบควบคุมไม้ของ EU ในปัจจุบัน European Timber Regulation เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความพร้อมของอุตสาหกรรมไม้ต่อ Deforestation-free products รวมถึงความเห็นต่อผลกระทบที่จะเกิดกับสินค้าส่งออกอื่นๆ

อุตสาหกรรมไม้พร้อมรับกฎระเบียบ Deforestation-free products แน่นอน

ผู้ประกอบมั่นใจว่าไม้มีความพร้อมมากกว่าสินค้าอื่น เนื่องจาก การบำรุงรักษาป่า การควบคุมความถูกต้องตามกฎหมาย และการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน เป็นมาตรฐานที่อุตสาหกรรมไม้ทำมาโดยตลอด และอุตสาหกรรมก็คุ้นเคยกับกฎระเบียบ อย่าง European Timber Regulation (EUTR) ของ EU และประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว

คุณประเสริฐ เอี่ยมดีงามเลิศ  กลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยจักรและโรงอบไม้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ‘ไม่คิดว่า Deforestation-free products ต่างกับ European Timber Regulation มากนัก เพราะอยู่บนพื้นฐานของการ Due Diligenceซึ่งอุตสาหกรรมไม้คุ้นเคยดีอยู่แล้ว’

คุณเอกสิทธิ์ อเนกสิทธิสิน สมาคมธุรกิจไม้ ‘ไม่มีความกังวล เพียงแต่คงต้องทำเอกสารเพิ่มขึ้น’

เอกสารแสดงสิทธิการใช้ที่ดินจะเป็นตัวตรวจพิสูจน์สำคัญเพื่อรองรับกฎระเบียบ Deforestation-free products โดยประเทศไทยควรเตรียมระบบเอกสารให้พร้อม

เนื่องจากกฎระเบียบ Deforestation-free products มุ่งให้ยืนยันว่าสินค้านั้นไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่มีการทำลายป่า ผู้ประกอบการเห็นว่าประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมเอกสารแสดงสิทธิการใช้ที่ดินที่ชัดเจน เพื่อนำมายืนยันว่าสินค้ามาจากที่ดินที่ปลอดจากการทำลายป่า และแสดงวันที่ได้รับมอบที่ดินชัดเจน ให้สอดคล้องกับ cut-off date ที่ EU กำหนดไว้

ความไม่สอดคล้องระหว่างนิยาม ป่าและ การทำลายป่าของ EU และประเทศผู้ผลิตต่างๆ รวมถึงความท้าทายในการตรวจพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ส่งผลต่อการลดลงและเสื่อมโทรมของป่าหรือไม่ เป็นประเด็นที่ควรจับตามอง

คุณประเสริฐ ‘นิยามป่าที่มีความแตกต่างตามบริบทของประเทศ เป็นประเด็นที่สำคัญ นอกจากนี้มองว่าการตรวจพิสูจน์ว่ามีการทำลายป่าหรือไม่ก็ทำได้ยาก คาดว่าจะต้องมีการหารือเรื่องนี้กันต่อไป’

ความกังวลต่อการปรับตัวของกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไม้ เพราะการทำ Due Diligence อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับสินค้าอื่นๆ

เนื่องจากการควบคุมสินค้าไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีมานานแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการไม้รู้ดีว่าต้องปฏิบัติอย่างไร แต่มีความกังวลกับสินค้าอื่น เพราะอาจเป็นครั้งแรกที่ถูกควบคุม นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ในกลุ่มสินค้าเหล่านี้ซึ่งอาจเจออุปสรรคในการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน และมองว่ายังมีการผลิตสินค้าเหล่านี้อยู่บนที่ดินที่สถานะไม่ชัดเจนว่าเป็นป่าหรือพื้นที่เกษตรอยู่

คุณการุณ ‘Deforestation-free products จะมีผลกระทบกับสินค้าส่งออกนอกเหนือจากไม้ที่กฎระเบียบได้ระบุไว้ ต้องยอมรับว่าสินค้ากลุ่มนี้มีการผลิตบนที่ดินที่มีความเสี่ยงเป็นป่าอยู่ ที่สำคัญก็มีกลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ด้วย’

หน่วยงานรัฐไทยต้องเป็นผู้นำในการเตรียมรับกฎระเบียบ Deforestation-free products โดยภาคธุรกิจไม้พร้อมให้การสนับสนุน

ทั้งสามท่านมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการเจรจาและผลักดันเรื่องดังกล่าวกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

Comments are closed.

X