การประชุมผ่าน Video Conference ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป

14 ธันวาคม 2560 – นายจเรศักดิ์ นันตวงษ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ทำหน้าที่แทนหัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายไทย ในการประชุมผ่าน Video Conference ร่วมกับ  Ms. Helene Perier หัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป และเจ้าหน้าที่จากสถาบันป่าไม้ยุโรป ณ ห้องประชุม 2 อาคารแอทธินี ทาวเวอร์ ชั้น 10 กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือและรายงานความก้าวหน้าของกระบวนการจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ

จากการประชุมได้ข้อสรุปจากประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. นิยามความถูกต้องตามกฎหมาย

  • นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร แจ้งให้ทราบว่า ฝ่ายไทยได้รายงานผลการทดสอบภาคสนามให้สถาบันป่าไม้ยุโรปทราบแล้ว และจะมีการจัดการประชุมย่อยในวันที่ 18 ธันวาคม เรื่องแนวทางการควบคุมไม้นำเข้าด้วยระบบ Due Diligence ของประเทศไทย
  • ดร. Alexander Hinrichs กล่าวว่า จากรายงานการทดสอบภาคสนามที่ได้รับมานั้นมีข้อสังเกตมากมาย จึงจะขอพิจารณารายงานฉบับนี้จนกว่าจะได้รับร่างรายงานฉบับสุดท้าย

2. การรับรองไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้ามบนที่ดินเอกชน

  • แนวทางในการรับรองไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้ามบนที่ดินเอกชนที่ประเทศไทยนำเสนอมานั้นมี 4 ช่องทาง ได้แก่ 1. การสำแดงตนเอง 2. การลงทะเบียนในระบบ E-tree และ 3.การรับรองโดย พรบ.สวนป่า และ 4.การรับรองโดย มอก. ซึ่ง Ms. Helene Perier มีความเห็นในแนวทางดังกล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ทางสหภาพยุโรปปรารถนาที่จะรับทราบว่าทางเลือกต่าง ๆ ที่ได้นำเสนอมาสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างไรบ้าง และต้องการฝ่ายไทยเพิ่มเติมรายละเอียดของแต่ละแนวทาง และนำเข้าหารือในการประชุมผู้เชี่ยวชาญร่วม (JEM3)

3. การควบคุมการนำเข้าไม้

  • ฝ่ายไทยได้มีการตั้งคณะกรรมการกลุ่มย่อยซึ่งจะมีการประชุมกันวันที่ 18 ธันวาคมนี้ เพื่อหารือเรื่องวิธีการบรรเทาความเสี่ยง ในการควบคุมไม้นำเข้า และจะนำผลจากการประชุมเข้าหารือในการประชุม JEM3 ต่อไป
  • ฝ่ายสหภาพยุโรปเสนอให้ฝ่ายไทยเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมกันระหว่างผู้ประกอบการ และการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ ฝ่ายสหภาพยุโรปปรารถนาที่จะรับทราบเอกสารแนวคิด (Concept Note) เรื่องนี้ก่อนการประชุม JEM3 เพื่อที่จะได้อ่านและทำความเข้าใจก่อนการประชุมจริง
  • ดร. Alexander Hinrichs เสนอให้อธิบายเพิ่มเติมในขั้นตอนการสืบทานเอกสาร และวิธีการดำเนินการของผู้ประกอบการ พร้อมทั้งบทบาทของ EUTR กับการดำเนินการต่าง ๆ

4. ขอบเขตผลิตภัณฑ์

  • จากการเจรจาที่ผ่านมา หัวหน้าคณะเจรจากล่าวว่าขอบเขตผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีขอบเขตที่กว้าง และรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ด้วย จึงเสนอให้ฝ่ายไทยมีการอธิบายประเด็นนี้เพิ่มเติมในการประชุม JEM3

5. แผนการดำเนินงานการจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ ฉบับปรับปรุง

  • ฝ่ายไทยแจ้งให้ทราบว่าการจัดทำร่างภาคผนวกระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (TLAS) จำเป็นต้องเลื่อนเป็นเดือนพฤษภาคม 2561 เนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลที่กระชั้นเกินไป
  • ที่ประชุมขอให้ฝ่ายไทยปรับปรุงแผนการดำเนินงานการจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ แล้วจึงนำส่งฉบับแก้ไขให้ฝ่ายสหภาพยุโรปภายในสัปดาห์หน้า
  • ฝ่ายสหภาพยุโรปเสนอให้นำข้อคิดเห็นการแก้ไขร่างข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Main text) เข้าสู่การประชุม JEM 3
  • สถาบันป่าไม้ยุโรปเสนอให้ระบุเวลาในการเริ่มภารกิจทางเทคนิคของสถาบันป่าไม้ยุโรป โดยคาดว่าจะได้หารือกับคณะทำงานกลุ่มย่อยเกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้าไม้ การร่างภาคผนวกระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้(TLAS) โดยจะมี Mr. Alexander Hinrichs, Mr.Thomas de Francqueville และ Ms. Alexandra Chang เป็นตัวแทนจากสถาบันป่าไม้ยุโรปมาเข้าร่วมภารกิจครั้งนี้ด้วย

6. เรื่องอื่นๆ

  • ฝ่ายสหภาพยุโรปแนะนำให้สำนักงานเลขานุการไทย-อียู เฟล็กที เขียนข้อเสนอไปยัง FAO-EU FLEGT Programme เพื่อขอรับการสนับสนุนที่ปรึกษาคนไทยในการช่วยจัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำอธิบายในประเด็นต่างๆ
  • ฝ่ายไทยแจ้งว่าจะมีการรายงานความก้าวหน้าของการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับไม้ของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติในการประชุม JEM 3
  • ฝ่ายสหภาพยุโรปเสนอให้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดการเชื่อมโยง FLEGT VPA กับนโยบายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการประชุม JEM อีกด้วย

 

Comments are closed.

X