การประชุมทางเทคนิคระหว่างคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจฯกับสถาบันป่าไม้ยุโรปครั้งที่ 1/2559

การประชุมทางเทคนิคระหว่างคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FLEGT VPA) กับสถาบันป่าไม้ยุโรป ครั้งที่ 1/2559 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ณ ห้องประชุม 1 กรมป่าไม้ มีคณะทำงานฯและผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นจำนวน 42 คน โดยมีนายสภลท์ บุญเสริมสุข ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือด้านการป่าไม้ระหว่างประเทศเป็นประธานในการประชุม สำหรับการประชุมทางเทคนิคครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือในประเด็นข้อคิดเห็นของสหภาพยุโรปต่อร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย

ฝ่ายไทยนำโดยนายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการไทย-อียู เฟล็กทีรายงานความก้าวหน้า/สถานการณ์ของกระบวนการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจต่อที่ประชุม 4 ประเด็น ดังนี้

ร่างนิยามฯ (LD) : นับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการหารือเรื่องร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมายมาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยการประชุมวันที่ 24 กันยายน 2559 เป็นการประชุมครั้งที่ 4 ประจำปี 2559 โดยร่างนิยามฯที่ฝ่ายไทยได้จัดทำขึ้นนั้นเกือบจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

การจัดทำขอบเขตผลิตภัณฑ์ไม้ (Product Scope) : ในปี 2559 TEFSO ได้มีการจัดประชุมการจัดทำขอบเขตผลิตภัณฑ์ไม้ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยที่ประชุมได้ยกร่างขอบเขตผลิตภัณฑ์ฉบับแรกและพร้อมนำร่างดังกล่าวเข้าเจรจากับสหภาพยุโรปต่อไป

การประชุมการควบคุมการนำเคลื่อนที่ไม้ (Supply Chain Control) : การควบคุมการนำเคลื่อนที่ไม้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 30 สิงหาคม 2559 โดยการประชุมดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมาก มีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมทั้งจากทางภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเป็นจำนวนถึง 48 คน โดย TEFSO คาดว่าจะมีการจัดประชุมดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆนี้

การทดสอบย่อยภาคสนาม (Mini-field test) : การทดสอบย่อยภาคสนามถูกจัดขึ้นในวันที่ 22-24 กันยายน 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการการทำงานของตัวตรวจพิสูจน์และกระบวนการตรวจพิสูจน์ภายใต้นิยามความถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว กรมป่าไม้โดยสำนักงานเลขานุการไทย-อียู เฟล็กที (TEFSO) และสถาบันป่าไม้ยุโรป (EFI) จึงได้ถือโอกาสนี้จัดการทดสอบย่อยภาคสนาม (Mini-field test) เพื่อเตรียมการทดสอบภาคสนามจริงในการจัดทำนิยามความถูกต้องตามกฎหมายให้สมบูรณ์

ทางด้าน Mr.Sebastian Schrader ผู้แทนด้านเทคนิคจากสถาบันป่าไม้ยุโรป (EFI) รายงานความก้าวหน้า/สถานการณ์ของกระบวนการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจให้ที่ประชุมทราบว่า นับว่าเป็นข่าวดีที่ประเทศอินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถออกใบรับรองเฟล็กทีได้และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559

นอกจากนี้ผู้แทนด้านเทคนิคยังได้รายงานว่าขณะนี้ประเทศเวียดนามเกือบจะเสร็จสิ้นการเจรจา VPA ทั้งหมดแล้ว และต้องการให้มีการสรุปผลของการเจรจาภายในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยประเทศเวียดนามเองมีความมุ่งมั่นและต้องการเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่สามารถดำเนินการออกใบรับรองเฟล็กทีได้

นอกจากนี้ยังแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าทางคณะกรรมธิการยุโรปมีความยินดีที่จะดำเนินการเจรากับประเทศไทย และมองเห็นว่าร่างนิยามฯฉบับล่าสุดที่ได้จัดทำขึ้นมีรายละเอียดสมบูรณ์ดี อาจจะมีเพียงบางจุดเล็กน้อยเท่านั้นที่อาจจะต้องมีการปรับแก้เพิ่มเติม สำหรับเอกสารช่องว่างทางเลือกนั้น ผู้แทนจาก EFI ยังให้ความสนใจและต้องการรับทราบหากฝ่ายไทยดำเนินการแก้ไขเสร็จสมบูรณ์

นอกเหนือจากการหารือในประเด็นข้อคิดเห็นของสหภาพยุโรปต่อร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้แทนจาก EFI ยังได้รายงานข้อสังเกตที่ได้จากกระบวนการการทำงานของตัวตรวจพิสูจน์และกระบวนการตรวจพิสูจน์ภายใต้นิยามความถูกต้องตามกฎหมายจากการลงพื้นที่ภาคสนามอีกด้วย

dscf3958 dscf3948 dscf3934 dscf3915 dscf3906 dscf3899

Comments are closed.

X