การประชุมทางเทคนิคระหว่างคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป กับสถาบันป่าไม้ยุโรป ครั้งที่ 2/2560

วันที่ 17 ตุลาคม 2560 – สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อทดสอบนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา ทางสำนักงานเลขานุการไทย-อียู เฟล็กที จึงจัดการประชุมทางเทคนิคระหว่างคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป กับสถาบันป่าไม้ยุโรป ครั้งที่ 2/2560 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมดังกล่าว

จากการประชุม ได้ข้อสรุปจากประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ในการประชุมครั้งนี้ Mr. James Sandom ที่ปรึกษาระหว่างประเทศ และนางสาวภาวิณี อุดมใหม่ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายภายในประเทศ ได้นำเสนอผลที่ได้จากการลงพื้นที่ทั้งหมด 62 ตัวอย่าง ต่อที่ประชุม และพบประเด็น 141 ประเด็น เช่น ขนาดของผู้ประกอบการที่แตกต่างกันมาก ควรมีการปรับปรุงตัวชี้วัดและตรวจพิสูจน์ของ O4 และ O6 เป็นต้น ทั้งนี้ รายละเอียดของผลที่ได้จะถูกรวบรวมและวิเคราะห์ เพื่อเผยแพร่เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อไป

2. มีการแบ่งกลุ่มเพื่อหารือประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเรื่องใดบ้าง ที่ควรรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของ TLAS สำหรับประเด็นการตัดโค่นและการนำเคลื่อนที่
  • วิธีการใดที่จะทำให้ LD และ TLAS มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการรายย่อยหรือโครงการป่าชุมชนในประเทศไทย (หลักการที่ 2)
  • LD และ TLAS ควรรวมข้อบังคับด้านแรงงานและหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดไว้ด้วยหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ตัวชี้วัดและตัวตรวจพิสูจน์ใด ที่มีความเกี่ยวข้องและเหมาะสมที่สุด
  • สำหรับไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้าม มีวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง และจะสามารถพิสูจน์ความถูกต้องทางกฎหมายได้อย่างไร
  • เรื่องความเป็นเจ้าของ ความถูกต้องตามกฎหมายของการแสดงความเป็นเจ้าของของต้นไม้จะสามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ได้อย่างไร
  • มีประเด็นอื่นใดที่ควรได้รับการพิจารณาหรือนำมาใส่ไว้ใน LD หรือระบบออกใบอนุญาต FLEGT

3. ฝ่ายไทยนำเสนอความคืบหน้าต่างๆ ดังนี้

  • คณะทำงานจัดทำ Due Diligence System
    “ประเทศไทยนำเสนอแบบฟอร์มและความก้าวหน้าในการจัดทำระบบ DDS ที่ได้ศึกษาตัวอย่างจากประเทศเวียดนามในการประเมินความเสี่ยงของไม้นำเข้า โดยจะใช้หลักการประเมินความเสี่ยงของชนิดพันธุ์และแหล่งกำเนิดของไม้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยในการจัดทำระบบต้องมีการลงพื้นที่เพื่อทดสอบระบบก่อนจะใช้งานจริงด้วย”
  • คณะทำงานจัดทำแนวทางการตรวจพิสูจน์ไม้ไม่หวงห้ามบนที่ดินเอกชน
    “แนวทางการตรวจพิสูจน์ไม้ไม่หวงห้ามบนที่ดินเอกชนในขณะนี้มี 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ แบบฟอร์มการสำแดงตนเองของธนาคารต้นไม้ การรับรองต้นไม้ด้วยบุคคลที่สามของสหกรณ์สวนป่า มาตรา มอก. 2861 จาก TFCC และระบบ e-tree จากกรมป่าไม้ ซึ่งจากการหารือยังไม่ได้ข้อสรุป”

   

Comments are closed.

X