การประชุมคณะทำงานฯ FLEGT VPA ครั้งแรกของปีได้รับความก้าวหน้าในภาคผนวกขอบเขตผลิตภัณฑ์ การควบคุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ไทย และเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถการตรวจสอบย้อนกลับไม้

คณะทำงานจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (AHWG) ได้จัดให้มีการประชุมทางไกลครั้งที่ 1 ของปีนี้ ในวันที่ 21 มกราคม 2564 โดยมี นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีผู้ร่วมเข้าประชุมจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งหมด 40 ท่าน

คุณบุญสุธีย์ จีระวงค์พาณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการป่าไม้ กรมป่าไม้ รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน FLEGT VPA ในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการจัดประชุมทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศมากมาย ประกอบด้วย การประชุมเจรจาระหว่างประเทศไทยและอียูครั้งที่ 3 (NEG 3) การประชุมผู้เชี่ยวชาญร่วมระหว่างประเทศไทยและอียูครั้งที่ 5 (JEM 5) การประชุมคณะกรรมการเจรจาการทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจฯ (NFC) 3 ครั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อเตรียมการรองรับการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าจากสหภาพยุโรป (Sub-committee) 4 ครั้ง คณะทำงานจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจฯ (AHWG) 11 ครั้ง และคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ ทั้งหมด 48 ครั้ง และแจ้งความก้าวหน้าในภาคผนวกต่างๆ โดยในปัจจุบันภาคผนวกที่ 3 เงื่อนไขในการปล่อยสินค้าที่มีใบอนุญาตเฟล็กทีเข้าสู่สหภาพยุโรป และภาคผนวกที่ 7 คำอธิบายการตรวจสอบโดยอิสระ ได้ผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายไทยและอียูในระดับเทคนิคแล้ว เช่นเดียวกันกับภาคผนวกที่ 2 นิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ของประเทศไทย โดยภาคผนวกที่ 2 นี้ต้องมีการพัฒนาให้สะท้อนกฎหมายที่มีการแก้ไข และข้อสรุปจากภาคผนวกอื่นๆ ซึ่งฝ่ายไทยจะยังคงหารือต่อไปในปีนี้ ในภาคผนวกที่ 5 ระบบประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ไทย และภาคผนวกที่ 6 การควบคุมการนำเคลื่อนที่ไม้ไทย ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง และพัฒนาการบริหารจัดการระบบ การควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้ในที่ดินเอกชน ที่ดินรัฐ และไม้เก่า อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ในส่วนของภาคผนวกที่ 9 การเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะไทยโดยมอบหมายให้ RECOFTC เป็นผู้นำการดำเนินงานภาคผนวกนี้

คุณรุ่งนภา วัฒนวิเชียร ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) รายงานผลสรุปการจัดประชุมระดมความเห็น 4 ภาค เพื่อนำมาสะท้อนในร่างเอกสารการควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้ในที่ดินเอกชน โดยในการดำเนินงานขั้นต่อไป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะทำการจัดการประชุมระดมความคิดเห็นเพิ่มเติม เนื่องจากยังไม่ได้รับความคิดเห็นจากตัวแทนกลุ่มผลิตภัณฑ์ส่งออกเพียงพอ จากนั้นจะเก็บรวบรวมข้อแก้ไข ข้อเสนอแนะต่อร่างภาคผนวกขอบเขตผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ในเนื้อหาของขอบเขตผลิตภัณฑ์ และจะนำมาพิจารณาแก้ไขร่างภาคผนวกดังกล่าว เพื่อนำส่งอียูต่อไป

คุณนัณฐิรา รอดวงศ์ ผู้แทนจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) นำเสนอความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อช่วยเสริมศักยภาพการติดตามตรวจสอบย้อนกลับไม้ของกรมป่าไม้ ได้แจ้งข้อค้นพบปัจจุบันว่าควรนำแอปพลิเคชั่นที่สามารถตรวจสอบชนิดไม้ และเก็บ ตรวจสอบเอกสารการทำไม้ มาผนวกรวมเข้ากับระบบอิเล็คทรอนิคของกรมป่าไม้ โดยจะมีการนำเสนอรายงานให้คณะทำงานทราบอีกครั้งในเดือนก.พ.

ตัวแทนจากคณะทำงานกลุ่มย่อยขอบเขตผลิตภัณฑ์ แจ้งให้คณะทำงานจัดทำข้อตกลงฯทราบว่าจะยังคงเก็บ HS code 48 ไว้ในร่าง แต่จะเขียนยกเว้นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลออกมา และขอความเห็นคณะทำงานจัดทำข้อตกลงฯ ต่อวิธีการสำแดงและรับรองผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ซึ่งจะเป็นกระบวนการในการแจ้งให้ศุลกากรของอียูรับทราบสถานะของผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ซึ่งจะไม่ถูกควบคุมโดย FLEGT VPA ระหว่างไทย – อียู นอกจากนั้นแล้วผลิตภัณฑ์รีไซเคิลยังไม่ถูกควบคุมใน EUTR ทำให้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลสามารถผ่านเข้าอียูได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการดังกล่าว

ก่อนถึงการประชุม AHWG ครั้งหน้าในวันที่ 19 ก.พ. คณะทำงานจัดทำข้อตกลงฯ จะเข้ารับชมการนำเสนอโครงการ FLEGT Watch ของบริษัท Visio Terra ซึ่งนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในการตรวจสอบทรัพยากรไม้

 

Comments are closed.

X