20 ม.ค. 2565 – เริ่มต้นปี 2565 คณะทำงานจัดทำ FLEGT VPA ผ่านอีกสองร่างภาคผนวก ระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ของประเทศไทย (THA-TLAS) และ การควบคุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ไทย เพื่อส่ง EU FLEGT Asia Programme, European Forest Institute ให้คำแนะนำเชิงเทคนิค ก่อนนำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการฯ และส่งสหภาพยุโรปเตรียมการเจรจาในปีนี้
ภาคผนวก THA-TLAS อธิบายขั้นตอนการได้มาและการออกหนังสือรับรอง THA-TLAS และ FLEGT หนังสือรับรองจากระบบ THA-TLAS จะออกให้กับไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ขายในตลาดประเทศและที่ส่งออก โดยหนังสือรับรองจะช่วยอำนวยความสะดวกการส่งออก ทำให้การส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปง่ายขึ้นไม่ต้องผ่านขั้นตอน Due Diligence และยังเพิ่มความมั่นใจต่อความถูกต้องตามกฎหมายของผลิตภัณฑ์ไม้ไทยกับคู่ค้าในตลาดนานาชาติ
ระบบ THA-TLAS จะตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ ซึ่งอธิบายใน ภาคผนวกที่ 2 และการควบคุมห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอธิบายในภาคผนวกการควบคุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ไทย ภาคผนวกดังกล่าวอธิบายขั้นตอนการเก็บข้อมูลและการกระทบยอดข้อมูลในห่วงโซ่อุปทานไม้ไทย เพื่อให้มั่นใจว่าทุกจุดในระบบห่วงโซ่อุปทานได้รับการบันทึกและตรวจสอบ ร่างภาคผนวกระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ของประเทศไทย
ภายใต้ภาคผนวกการควบคุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ไทยประกอบด้วยเอกสารแนวทาง 4 ฉบับซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาช่องว่างห่วงโซ่อุปทาน แนวทางทั้ง 4 คือ แนวทางสำหรับไม้ในที่ดินเอกชน ที่ดิน ส.ป.ก. ไม้เก่า และไม้นำเข้า ซึ่งเป็น 4 จุดในห่วงโซ่อุปทานที่คณะทำงานพบว่ายังขาดการควบคุมทางกฎหมายที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสมบูรณ์ ในการประชุมนี้ คณะทำงานจัดทำ FLEGT VPA ผ่านแนวทางการสำแดงความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ด้วยตนเอง สำหรับไม้ในที่ดิน ส.ป.ก. โดยจะส่งแนวทางให้กรมป่าไม้ออกประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อประกาศแล้ว เจ้าของไม้สามารถอ้างอิงแนวทางในการจัดทำหนังสือสำแดงฯ เพื่อความสะดวกในการค้าและนำเคลื่อนไม้ต่อไป กฎหมายป่าไม้ของไทยในปัจจุบันไม่ได้ควบคุมการตัด และการค้าไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดิน ส.ป.ก. ดังนั้นแนวทางจะเข้ามาช่วยเสริมความมั่นใจในความถูกกฎหมายของไม้จากที่ดิน ส.ป.ก. และความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ
ความก้าวหน้าหลายอย่างได้สำเร็จไปแล้ว แต่คณะทำงานจัดทำ FLEGT VPA ยังคงเดินหน้าต่อในเรื่องการทบทวนกฎหมาย โดยในปีนี้ กลุ่มนิติการ กรมป่าไม้ จะมุ่งแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ นอกจากนี้ กรมป่าไม้จะเป็นผู้นำในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงงานแปรรูปร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แนวทางปฏิบัติจะแนะนำโรงงานถึงขั้นตอนที่เหมาะสมในการตรวจสอบความถูกต้องของไม้ก่อนรับเข้าโรงงาน ขั้นตอนการเก็บเอกสาร และเก็บบัญชีไม้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการตรวจสอบย้อนกลับไม้ของประเทศไทยต่อไป