FLEGT คืออะไร
FLEGT (เฟล็กที) ย่อมาจาก Forest Law Enforcement, Governance and Trade หรือ แผนปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า ซึ่งเป็นมาตรการของสหภาพยุโรปที่ริเริ่มขึ้น เพื่อขจัดปัญหาการทำไม้ผิดกฎหมายและกีดกันการค้าไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์ไม้จากไม้ที่ผิดกฎหมาย
ที่มาของเฟล็กที
จากปัญหาการทำไม้และการค้าไม้ผิดกฎหมายกลายเป็นประเด็นสำคัญที่นานาชาติให้ความสนใจมาตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 โดยประเด็นเรื่องการทำไม้ผิดกฎหมาย ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในห้าประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อป่าไม้ของโลก ภายใต้โครงการปฏิบัติการด้านป่าไม้ของกลุ่ม G8 สำหรับปี พ.ศ.2541-2545 (1998-2002 G8 Action Programme on Forests) และในการประชุม World Summit on Sustainable Development ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2545 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะขจัดการทำไม้และการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาดังกล่าว คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้มีการนำเสนอ แผนปฏิบัติการเฟล็กที (FLEGT Action Plan) ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2546 และแผนปฏิบัติการดังกล่าว ได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน
จุดประสงค์ของแผนปฏิบัติการ EU FLEGT (EU FLEGT Action Plan)
แผนปฏิบัติการ EU FLEGT ได้กำหนดมาตรการต่างๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับปัญหาการทำไม้ผิดกฎหมาย ได้แก่
- ส่งเสริมธรรมาภิบาลและพัฒนาศักยภาพของประเทศผู้ผลิตไม้
- จัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA : วีพีเอ) กับประเทศผู้ผลิตไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไม้ผิดกฎหมายเข้ามาในตลาดยุโรป
- พยายามให้สหภาพยุโรปลดการใช้ไม้ผิดกฎหมายลง และกีดกันการลงทุนของสถาบันในสหภาพยุโรปที่อาจเป็นการสนับสนุนการทำไม้ผิดกฎหมาย
ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ภายใต้ FLEGT
ผลิตภัณฑ์ไม้ที่อยู่ใต้ FLEGT นั้น ระบุอยู่ในขอบเขตผลิตภัณฑ์ (Product Scope: PS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาคผนวกของความเป็นหุ้นส่วนความสมัครใจ FLEGT โดยประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์ไม้ต่างๆในวงกว้าง รวมทั้งไม้เนื้อแข็ง ไม้สำหรับปูพื้น ไม้อัด เยื่อไม้ และกระดาษ เฟอร์นิเจอร์ไม้ กรอบรูปไม้ ชิ้นส่วนที่ทำจากไม้ หรือผลิตภัณฑ์ไม้เกือบทุกประเภท รวมทั้งไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้มาจาก ป่าปลูกเพื่อการพาณิชย์ เช่น ไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขี้เลื่อยและเศษไม้ไม่ว่าไม้เหล่านั้นจะถูกอัดออกมาในรูปแบบใดก็ตาม แต่ไม่รวมผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กระดาษพิมพ์ หนังสือ วารสาร และหนังสือพิมพ์ ฯลฯ (ขอบเขตผลิตภัณฑ์ไม้ไทย)
การดำเนินงาน FLEGT ในประเทศไทย
เริ่มต้นใน พ.ศ. 2553 ที่ประเทศไทยแสดงเจตจำนงเข้าร่วมการเจรจา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประสานงานหลัก (พ.ศ. 2553) และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจา FLEGT โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้นำการเจรจาของฝ่ายไทย (พ.ศ. 2554) หลังจากการศึกษาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย และการประชุมระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเทศไทยและสหภาพยุโรปประกาศเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556 ในปีเดียวกันกรมป่าไม้ได้จัดตั้ง สำนักงานเลขานุการไทย-อียู เฟล็กที (TEFSO) เป็นหน่วยงานภายใต้เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน และดำเนินงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง