การประชุมผู้เชี่ยวชาญร่วมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (Joint Expert Meeting: JEM) ครั้งที่ 2/2560

วันที่ 27-28 มิถุนายน สำนักงานเลขานุการไทย – อียู เฟล็กที จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญร่วมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป (Joint Expert Meeting: JEM) ครั้งที่ 2/2560 ณ ห้องลาดพร้าว 2-4 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยมีนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้นำฝ่ายไทย พร้อมด้วยนายประลอง ดำรงค์ไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายบรรจง วงษ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการไทย – อียู เฟล็กที พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเจรจาฯ ฝ่ายไทย ทางด้านคณะกรรมการเจรจาฯ ฝ่ายสหภาพยุโรปนำโดย Ms. Helene PERIER และคณะ

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเชิงเทคนิคระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปในการจัดทำเนื้อหาภายใต้ข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมภิบาล และการค้า (FLEGT) ทั้งนี้ ผลที่ได้จะนำเข้าไปเจรจาฯในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2560 นี้

โดยเนื้อหาในการประชุม ฝ่ายไทยได้มีการอัพเดทการพัฒนาด้านนโยบานด้านป่าไม้ของประเทศไทย รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบายป่าไม้ของประเทศที่เกี่ยวของกับ VPA ในขณะเดียวกันผู้แทนสหภาพยุโรปได้อัพเดทในเรื่องการประเมินแผนการปฏิบัติการ FLEGT และ EUTR ที่ได้จากการประชุม ณ กรุงบลัสเซล ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

ฝ่ายไทยได้แสดงความมุ่งมั่นเพื่อยืนยันว่ากระบวนการ VPA จะได้รับการสนับสนุนในระดับการเมืองและจากรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด (ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน) รวมไปถึงหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านป่าไม้โดยตรง เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม แรงงาน และการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานนั้นๆ ทราบถึงกระบวนการทั้งหมดอีกด้วย

ในส่วนของความคืบหน้าที่สำคัญของนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย (LD) ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเรื่องการระบุแหล่งที่มาของไม้ซึ่งจำเป็นที่จะต้องระบุแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน รวมถึงการปรับแก้กฎระเบียบที่อาจจะส่งผลต่อเนื้อหาภายใต้ร่างนิยามฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงโครงการการทดสอบภาคสนามเกี่ยวกับนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยผลการทดสอบที่ได้จะนำเข้ารายงานต่อคณะทำงานจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจฯ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงตัวชี้วัด ตัวตรวจพิสูจน์ในร่างนิยามความถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

สหภาพยุโรปเล็งเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมของกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ภายใต้ภาคผนวกขอบเขตผลิตภัณฑ์ (Product scope) เนื่องจากสินค้าดังกล่าว มีมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินค้ารายการอื่นๆ ทางด้านผู้แทนจากสมาคมธุรกิจไม้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า กลุ่มผลิตภัณฑน์เฟอร์นิเจอร์จะเข้าร่วมภายใต้ข้อตกลง VPA ในระยะที่ 2 อย่างแน่นอน โดยในระหว่างนี้จะใช้วิธีสืบทานเอกสาร (DDS) ในการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของไม้

ฝ่ายไทยยังยืนยันอีกว่าประเทศไทยจะมีระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ (TLAS) ระบบเดียวที่จะรองรับตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากมีการตรวจพบไม้ผิดกฎหมาย ไม้ของกลางจะนำไปใช้สำหรับสาธารณะประโยชน์เท่านั้น โดยจะไม่เพิ่มแหล่งที่มาของไม้ดังกล่าว เป็นอีกแหล่งหนึ่งในนิยามความถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับประเด็นการตรวจสอบการนำเข้า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมป่าไม้ ได้กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้าไม้ โดยในอนาคตไม้ที่จะนำเข้าประเทศไทยต้องแสดงหลักฐานใบ CO หรือหลักฐานอื่่นๆ ที่สามารถระบุแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมายได้

นอกจากนี้ผู้แทนสถาบันป่าไม้ยุโรป (EFI)ได้อธิบายการใช้ระบบการสืบทานเอกสารและระบบการประเมิณความเสี่ยงของประเทศเวียดนามเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดกรองไม้นำเข้าจากประเทศที่มีความเสี่ยง สหภาพยุโรปกล่าวชื่นชมถึงความก้าวหน้าของระบบการควบคุมการนำเคลื่อนที่ไม้ที่ได้มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบ TLAS ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

Comments are closed.

X