FLEGT VPA และแนวคิดการควบคุมการนำเข้าไม้ของประเทศไทย
นอกจากการควบคุมความถูกต้องตามกฎหมาย และห่วงโซ่อุปทานของไม้ในประเทศไทยแล้ว กระบวนการ FLEGT VPA ยังมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นพลวัตสำคัญในการขจัดปัญหาไม้ผิดกฎหมายในประเทศคู่ค้าด้วย ถึงแม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบการควบคุมการนำเข้าไม้โดยกรมศุลกากรร่วมกับกรมป่าไม้ แต่การประเมินความถูกต้องของไม้ในปัจจุบันเป็นการประเมินจากการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยเป็นหลักเท่านั้น และข้อกำหนดให้ยื่นหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือหนังสืออนุญาตนำเข้าอื่นๆ ก็มีผลกับการนำเข้าจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นคือ ไม่ทราบชัดเจนว่าไม้หรือผลิตภัณฑ์ไม้ได้มาโดยการละเมิดกฎหมายของประเทศแหล่งกำเนิดหรือไม่ ไม่ทราบห่วงโซ่อุปทานของไม้ย้อนกลับไปยังแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน ส่งผลให้มีไม้ที่ละเมิดกฎหมายของประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากขาดกระบวนการตรวจทานความถูกต้องย้อนกลับทั้งห่วงโซ่อุปทานของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้นั้น
ในการเข้าร่วมกระบวนการ FLEGT VPA ประเทศไทยจะได้พัฒนาระบบการควบคุมการนำเข้าไม้ที่สามารถตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศแหล่งกำเนิดของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยปัจจุบันคณะทำงานจัดทำ FLEGT VPA ประกอบตัวแทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ และองค์กรภาคประชาสังคม ได้ร่วมพัฒนาแนวคิดการควบคุมการนำเข้าไม้โดยนำต้นแบบจาก EU Timber Regulation มาปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยแนวคิดได้นำ วิธีการตรวจทานข้อมูล (due diligence) มาใช้ โดยผู้ประกอบการนำเข้ามีหน้าที่ทำ due diligence เพื่อประเมิน และบรรเทาความเสี่ยงของไม้ก่อนการนำเข้า เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการนำเข้าไม้ผิดกฎหมายอันเป็นผลจากความไม่รู้ของผู้ประกอบการ
หลายประเทศในปัจจุบันออกกฎระเบียบการควบคุมการนำเข้าไม้โดยใช้วิธี due diligence ตัวอย่างเช่น EU ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเกาหลี และประเทศ VPA เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่เริ่มดำเนินการแล้ว และประเทศเวียดนามที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบก่อนเริ่มดำเนินการจริง เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดการควบคุมการนำเข้าไม้โดยวิธี due diligence จึงขอนำเสนอตารางความเหมือน ความต่างของการควบคุมการนำเข้าไม้ของ EU ประเทศสหรัฐ และแนวคิดของประเทศไทยตามตามตารางด้านล่าง