การทำไม้ผิดกฎหมายคืออะไร

การทำไม้ผิดกฎหมาย (illegal logging) หมายถึง การกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตัดฟัน (harvesting) กระบวนการแปรรูป การขนส่ง และการค้าไม้ การกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในช่วงใดๆ ของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ก็ได้ เช่น การทำไม้จากใบอนุญาตที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย หรือการทำไม้ในเขตพื้นที่คุ้มครอง การทำไม้เกินกำหนดโควตาที่ได้รับ การแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับใบอนุญาต การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การไม่จ่ายภาษี หรือการส่งออกสินค้าโดยไม่จ่ายอากรขาออก

สาเหตุของการทำไม้ผิดกฎหมาย

การทำไม้ที่ผิดกฎหมายนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านการบริหารจัดการ เช่น การออกกฎหมายที่ไม่เหมาะสม ระบบหรือสถาบันที่อ่อนแอ (weak institutions) การถือครองพื้นที่ป่าไม้ที่ไม่ชัดเจน การคอร์รัปชัน และการขาดการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ เศรษฐกิจก็มีส่วนทำให้เกิดการทำไม้ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม้ผิดกฎหมายมักมีราคาถูกกว่าไม้ถูกกฎหมาย และในตลาดไม่สามารถแยกได้ว่าไม้ใดเป็นไม้ที่ถูกหรือผิดกฎหมาย ทำให้ไม้ที่ถูกกฎหมายไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้

ผลกระทบจากการทำไม้ผิดกฎหมาย

  • ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
    การทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง และลักลอบนำออกนอกประเทศ จะทำให้ภาครัฐเกิดความสูญเสียทางการเงินหลายด้าน เช่น การสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับจากการจ่ายภาษี การสูญเสียรายได้จากการคอร์รัปชัน การทำไม้ผิดกฎหมายยังเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้ราคาของไม้ในตลาดต่ำลง ก่อเกิดการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และทำให้การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนเป็นไปได้ยากและล่าช้าขึ้น
  • ผลกระทบด้านสังคม
    ผลกระทบทางสังคมของการทำไม้ผิดกฎหมายมีหลากหลาย การทำไม้ผิดกฎหมายทำลายความเคารพในกฎหมาย และมักจะเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการขาดการยอมรับสิทธิในการใช้ที่ดินและทรัพยากรของชุมชนที่อยู่ในป่า หรือสิทธิของผู้ถือสัมปทานคนอื่นๆ และอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน รายได้จากการทำไม้ผิดกฎหมายยังอาจถูกนำไปใช้สนับสนุนความขัดแย้งที่เกิดในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ดังเช่นกรณีในประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา ไลบีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอีกหลายแห่ง ทั่วโลก
  • ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
    ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการทำไม้ผิดกฎหมาย ได้แก่ การก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้ภูมิอากาศของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง

สถิติคดีไม้ของกลาง

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2560 มีคดีไม้ของกลางจำนวนทั้งสิ้น 28,951 คดี และมีไม้ของกลางทั้งหมดคิดเป็นปริมาตรกว่า 59,657 ลูกบาศก์เมตร

นโยบายการป้องกัน และปราบปรามการทำไม้และค้าไม้ผิดกฎหมาย

นโยบายการป่าไม้แห่งชาติได้กําหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อประโยชน์ 2 ประการ คือ

  1. เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่หายาก และป้องกันภัย ธรรมชาติอันเกิดจากน้ำท่วมและการพังทลายของดิน รวมถึงประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และ นันทนาการของประชาชน ในอัตราร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ
  2. เพื่อเศรษฐกิจ กําหนดไว้เพื่อการผลิตไม้และของป่า เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ในอัตราร้อยละ 15

กรมป่าไม้ได้วางแนวทางการจัดการด้านการป้องกันรักษาป่า การพัฒนาป่าไม้ และการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ดังนี้

  1. ปลูกฝังจิตสํานึกให้ประชาชนรู้สึกรักและหวงแหน รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้
  2. ส่งเสริมการปลูกป่าภาคเอกชนและภาครัฐทั้งเชิงเศรษฐกิจ และเพื่อใช้สอยสําหรับครัวเรือน
  3. ดําเนินการวิจัยด้านป่าไม้ร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับสูง
  4. แก้ปัญหาการทําลายป่าในรูปแบบต่างๆ เช่น การทําไร่เลื่อนลอย ภัยจากไฟป่า การบุกรุกพื้นที่ป่าจากเชิงเขา จัดตั้งศูนย์ร่วมการปราบปรามในแต่ละภาค และมาตรการลงโทษ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ประพฤติมิชอบ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรมนุษย์

ที่มา : สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้